การเขียนกระดาน

เทคนิคการใช้กระดานดำ


กระดานดำเป็นอุปกรณ์พื้นฐานสำหรับการเรียนการสอน  ปัจจุบันจะมีอุปกรณ์ที่ผลิตโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ  เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ครู  เช่น   เครื่องฉายภาพโปร่งแสง  หรือเครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ  เครื่องแอลซีดีโปรเจคเตอร์  ซึ่งสามารถขยายภาพจากเครื่องคอมพิวเตอร์  ทำให้นักเรียนได้เห็นภาพที่ชัดขึ้น  โรงเรียนส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้กระดานดำ  กระดานสีเขียว  หรือไวท์บอร์ด  ฉะนั้น การเรียนรู้การเขียนกระดานดำ  จึงเป็นสิ่งที่ครูยังคงต้องฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ
เสริมศรี  ลักษณศิริ  กล่าวว่า  กระดานดำเป็นสื่อการสอนอย่างหนึ่งที่ครูและนักเรียนคุ้นเคย  กระดานดำมีประโยชน์อย่างกว้างขวางสามารถใช้ได้ทุกขั้นตอนของการสอนเพียงแต่ครูเลือกใช้ให้เหมาะสม
ความหมาย
คำว่า  กระดานดำ  ตามพจนานุกรม  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พุทธศักราช   2542   หมายถึงกระดานใช้มักทาสีดำ  ใช้เป็นอุปกรณ์การสอนการเรียน
อินทิรา  บุณยาทร  กล่าวว่า  การใช้กระดานดำ หมายถึง  การที่ครูใช้กระดานดำเป็นเครื่องมือในการเรียนการสอนให้นักเรียนเกิดความเข้าใจ  ความรู้  และประสบการณ์
วัตถุประสงค์ของการใช้กระดานดำ
กระดานดำเป็นสื่อที่เสริมให้นักเรียนเข้าใจบทเรียนได้ดียิ่งขึ้น
1                     เพื่อใช้ประกอบการอธิบาย  สรุป  และทบทวนบทเรียน
2                     ใช้เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความรู้  ความคิดเห็น  ศักยภาพด้านอื่นๆ
3                     ใช้เพื่อเสริมการใช้สื่ออุปกรณ์ด้านอื่นๆ  เช่น  เครื่องแอลซีดีโปรเจกเตอร์  และเครื่องฉายภาพข้ามรีษะ
4                     ใช้เพื่อประกอบการจัดกิจกรรมต่างๆ ในชั้นเรียน  เช่น  เล่มเกม  ติดภาพ 
การใช้ประโยชน์ของกระดานดำ
เสริมศรี   ลักษณศิริ  ได้กล่าวถึง  ประโยชน์ของกระดานดำไว้  3  ประการ
1                     ใช้บันทึกข้อความสำคัญในการเรียนการสอนได้ทุกขั้นตอน
2                     ใช้บันทึกข้อเสนอแนะ  แนวคิด  ทั้งครูและนักเรียน
3                     ใช้ในการแข่งขันหรือเล่นเกม  เช่น  แข่งขันการเขียน  สะกดคำ
คุณสมบัติเด่นของกระดานดำ
อาภรณ์   ใจเที่ยง  กล่าวถึง คุณสมบัติเด่นของกระดานดำไว้
1                     สามารถใช้ได้ทุกเวลาและทุกโอกาส
2                     ไม่ชำรุดเสียหายได้ง่าย
3                     นักเรียนสามารถมองเห็นได้ง่าย
4                     เขียนและลบได้ง่าย
5                     นำเสนอข้อคิดใหม่ได้ทันที
6                     ใช้ได้ทั้งครูและนักเรียน
สิ่งที่ควรทราบเพื่อเป็นความรู้พื้นฐานในการใช้กระดานดำ
ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน  การใช้สื่อ  การวัดและประเมินผลต้องคำนึงถึงหลักจิตวิทยาทั้งสิ้น  โดยเฉพาะจิตวิทยาการศึกษา
ประดินันท์   อุปรมัย  กล่าวว่า  ความรู้ทางจิตวิทยาที่ครูควรทราบเพื่อการใช้กระดานดำให้เกิดประสิทธิผล
1              การปฏิบัติตนเป็นตัวแบบของครูนั้นมีผลต่อการเลียนแบบของนักเรียนมีผลต่อทักษะการเขียนกระดานดำว่า  ถ้าถือว่าการเขียนกระดานหนังสือให้ถูกต้องตามอักขระวิธีและสะกด  เขียนให้เป็นระเบียบและสวยงาม  ก็ต้องถือว่าทักษะการเขียนกระดานดำของครูเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสอนของครู
2              การจำองบุคคล  บุคคลจะจำความรู้ที่ต้องการได้ดีถ้าความรู้นั้นได้รับการจัดเข้าเป็นระเบียบ  มีผลต่อทักษะเขียนกระดานดำในส่วนที่การเรียงลำดับข้อความของการเน้นจุดสำคัญของครู  จะทำให้นักเรียนเกิดความเข้าใจและสามารถจำเนื้อหาสาระนั้นได้ง่าย
เทคนิคการใช้กระดานดำ
ออร์นสทีนและลาสเลย์  แนะนำเกี่ยวกับการใช้กระดานดำดังนี้
1                     ให้เขียนให้สามารถอ่านออกได้  และโตพอที่นักเรียนมองเห็นได้
2                     ไม่พูดในขณะที่เขียนและหันหน้าเข้าหากระดาน  ให้เขียนก่อนแล้วจึงพูด
3                     ให้ครูยืนด้านข้างของกระดาน  เพื่อไม่ให้บังการมองเห็นเนื้อหาสาระบนกระดาน
4                     ให้ครูวางแผนสิ่งที่จะเขียนและลำดับในการเขียนก่อนการเขียนจริง
5                     ไม่เขียนแบบระเกะระกะหรือยุ่งเหยิง  และควรเขียนเฉพาะสาระสำคัญของเรียน
6                     ห้ามใช้คำย่อที่ครูคิดขึ้นเองแลเข้าใจได้ยาก
7                     ให้ใช้ชอล์กสี  ไม้บรรทัดและอุปกรณ์เครื่องเขียนช่วยเพื่อให้ได้ภาพประกอบการอธิบายที่เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
8                     อย่าใช้การเขียนกระดานมากเกินไป
9                     อย่าอายหรือแสดงความไม่พอใจหากครูเขียนผิดและนักเรียนบอกการเขียนที่ถูกต้องแก่ครู
10                 ครูควรใช้กระดานดำอย่าสม่ำเสมอและเว้นเนื้อที่ไว้เพื่อมอบหมายงาน
เสริมศรี  ลักษณศิริ  ได้แนะนำเทคนิคการใช้กระดานดำไว้หลายประการ
1                     ก่อนใช้กระดานดำควรคำนึงถึงความสะอาด
2                     ฝึกเขียนอยู่เสมอ  รวมทั้งเขียนถูกต้องและรวดเร็ว
3                     ทดลองเขียนตัวอักษรที่มีขนาดที่เหมาะสม  อ่านง่าย
4                     การเขียนให้จับชอล์กทำมุม 45 องศากับกระดานดำ
5                     ขณะฝึกเขียนใหม่ๆอาจใช้ชอล์กทำเส้นประให้เป็นแนวตรง
6                     ควรเขียนชื่อเรื่องไว้กลางกระดานดำ  ในกรณีที่เน้นคำ  ข้อความสำคัญหรือภาพ
7                     ควรฝึกการเขียนลายเส้นบนกระดานดำ  เพื่อช่วยในการบรรยายของครู
8                     ชอล์กบางสี เช่น สีน้ำเงิน  สีเขียว  ไม่เหมาะที่จะใช้เขียนบนกระดานดำสีเขียนเพราะจะกลมกลืนกับสีของกระดานมาก
9                     ขณะอธิบายข้อความบนกระดานดำ  ครูควรยืนชิดไปข้างใดข้างหนึ่งของกระดานดำ
10                 ไม่ทิ้งเศษชอล์กบนพื้น
11                 การเขียนกระดานที่อยู่ด้านล่าง  ให้ย่อตัวลงไปเขียน  ไม่ใช้โค้งตัวไปเขียน
ข้อควรคำนึงในการใช้กระดานดำ
ในการจัดห้องเรียน  ที่ตั้งของกระดานดำ ที่นั่งของนักเรียนมีผลต่อการมองเห็นและการเรียนรู้ของนักเรียน  อาภรณ์  ใจเที่ยง  แนะนำให้ครูคำนึงสิ่งต่อไปนี้ในการใช้กระดานดำ
1                     ขอบล่างของกระดารดำควรอยู่ในระดับสายตาของผู้ดู
2                     ที่นั่งของผู้ดูควรอยู่ในอาณาเขต  60  องศา  วัดจากกึ่งกลางของกระดาน
3                     คนที่นั่งหน้าชั้นควรอยู่ห่างจากกระดาน  3  เมตร  เป็นอย่างน้อย
4                     มีแสงสว่างที่กระดานดำเพียงพอ
5                     คำนึงถึงการสะท้อนแสงที่มากระทบกระดานดำ
6                     เขียนกระดานดำอย่างเป็นระเบียบ   เขียนตัวอักษรให้มีหัว  อ่านง่าย
7                     ไม่ควรเขียนกระดานดำนานเกินไป  ทำให้เสียเวลา
สิ่งที่ครูควรปฏิบัติในการฝึกเทคนิคการเขียนกระดานดำ
ประดินันท์  อุปรมัย  แนะนำถึงสิ่งที่ครูควรปฏิบัติในการฝึกเทคนิคการเขียนกระดานดำ
1                     ศึกษาหลักการสำคัญในการเขียนกระดานดำ
2                     ฝึกเขียนกระดานดำให้ถูกต้องตามหลักการที่ได้ศึกษา
3                     พิจารณาดูความเหมาะสมหรือความบกพร่องของสิ่งที่เขียน
4                     ปรับปรุงแก้ไขเมื่อพบข้อบกพร่อง





Find more videos like this on Faculty of Education คณะครุศาสตร์





http://www.youtube.com/watch?v=ghmv4ZxwnGU