การใช้เพลง

เทคนิคการใช้เพลงประกอบการสอน



 
คนเราทุกคนชอบเสียงเพลง มีคนบางคนทีไม่ชอบเสียงเพลงบ้างก็เพียงแต่ไม่ชอบแนวเพลงหรือประเภทของเพลงหรือไม่อยากฟังเพลงในช่วงเวลาหรือช่วงอารมณ์เท่านั้น สังเกตได้ว่าทุกชนเผ่าหรือชนชารติจะมีดนตรีไว้บรรเลงโดยเฉพาะเพื่อความบันเทิง ไม่เว้นแม้จะเป็นชนเผ่ากลุ่มเล็กๆในทวีปแอฟริกา หรือที่ห่างไกลความเจริญทางวัตถุในแถบป่าดงดิบในประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ชนเผ่าเหล่านั้นก็มีดนตรีง่ายๆ และใช้ปากในการทำเสียงประกอบท่วงทำนองและจังหวะสร้างความสนุกสนานเป็นอย่างดี
                พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ได้พระราชนิพลเรื่อง “เวณิชวาณิช” ตอน “ลอเรนโซบรรยายให้เซ็สซิกาฟังเกี่ยวกับเรื่องคนไม่มีดนตรีในหัวใจ” ดังนี้
ชนใดไม่มีดนตรีกาล                           ในสันดาลเป็นคนชอบกลนัก
อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ                          เขานั้นเหมาะคิดขบถอัปลักษณ์
ฤาอุบายมุ่งร้ายฉมังนัก                                        มโนหนักมืดมัวเหมือนราตรี
และดวงใจย่อมดำสกปรก                                  ราวนรกชนเช่นกล่าวมานี้
ไม่ควรใครไว้ใจในโลกนี้                                  เจ้าจงฟังดนตรีเถิดชื่นใจ
ในชั้นเรียนก็เช่นเดียวกัน นักเรียนชอบฟังเพลงที่ครูร้อง ถ้าเป็นเพลงที่กำลังอยู่ในความนิยม นักเรียนก็จะชื่นชอบเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม เพลงที่อยู่ในความนิยมของนักเรียนก็ใช้ได้ในบางโอกาส เพื่อผ่อนคลายความเครียดในชั้นเรียน
ชัยวัฒน์ เหล่าสืบสกุลไทย (2549: 16) กล่าวว่า การร้องเพลงเป็นกิจกรรมที่สำคัญกิจกรรมหนึ่งของคนเรา ซึ่งเรานำมาเป็นสื่อเพื่อก่อให้เกิดความสนุกสนาน เบิกบาน ผ่อนคลายอารมณ์ สร้างความสดชื่น กระปรี้กระเปล่า มีชีวิตชีวา อีกทั้งยังก่อให้เกิดการเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ และกระชับความสำพันธ์ในหมู่คณะได้อีก

ความหมาย
                เพลง หมายถึง สำเนียงขับร้อง, ทำนองดนตรี (ราชบัณฑิตยสถาน, 2542: 799)
                ชัยวัฒน์ เหล่าสืบสกุลไทย (2549: 16) อธิบายว่า เพลงหมายถึงสำเนียงขับร้อง ทำนองดนตรีที่เรากระทำขึ้นเพื่อสนองความต้องการทางด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ตลอดจนเพื่อเป็นกิจกรรมทางสังคมอีกด้วย
                สนอง อินละคร (2544:108) กล่าวว่า เพลงเป็นกิจกรรมที่ผู้จัดให้กับนักเรียนได้เรียนรู้ จากเนื้อหา ทำนอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นชีวิตและวัฒนธรรมในแง่มุมต่างๆอีกทั้งยังแนะนำสั่งสอนในด้านคุณธรรมอันเป็นแรงจูงใจใฝ่รู้ใฝ่เรียนอีกด้วย นักเรียนจะได้ทั้งความรู้และความสนุกสนานควบคู่กันไปด้วย
                สิริพัชร์  เจษฏาวิโรจน์ (2550:29) กล่าวว่า การใช้เพลงประกอบการสอน หมายถึงการนำเพลงมาให้นักเรียนร้อง หรือครูร้องให้นักเรียนฟัง เพื่อนำเข้าสู่บทเรียนหรือทำกิจกรรมของบทเรียน หรือเพื่อสรุปบทเรียนให้นักเรียนได้จดจำเนื้อหาที่เรียนได้

วัตถุประสงค์ของการใช้เพลงประกอบการสอน
                วัตถุประสงค์ของการใช้เพลงประกอบการสอนมีหลายประการที่สำคัญได้แก่
1.       เพื่อสร้างบรรยากาศที่สนุกสนานไม่เครียดและเอื้อต่อการเรียนรู้
2.       เพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา
3.         เพื่อสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ผ่านทางเนื้อร้องและความหมายของเพลง
4.       เพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์
ประโยชน์ของเพลงประกอบการสอน
ในชีวิตประจำวัน เพลงช่วยผ่อนคลายความเครียด ทำให้สนุกสนาน และสื่อความหมายตามวัตถุประสงค์ของผู้ประพันธ์ เพลงเพื่อชีวิตหลายๆเพลงสะท้อนปัญหาของสังคมหรือให้แง่คิดในการดำเนินชีวิต เพลงที่เกี่ยวข้องทางศาสนาจะให้คุณค่าด้านคุณธรรม เพลงประกอบการสอนก็เช่นเดียวกัน มีประโยชน์หลายประการ รายละเอียดดังข้างล่างนี้
เจนเซน (Jansen, 2009: 150) กล่าวถึงความสำคัญของดนตรีว่าหากครูนำมาใช้ในชั้นเรียนทำให้บรรยากาศการเรียนรู้มีมิตรภาพมากขึ้น และเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างครูกับนักเรียน
สิริพัชร์ เจษฏาวิโรจน์ (2550: 29-30) กล่าวว่าการใช้เพลงประกอบการสอนจะช่วยทำให้บทเรียนน่าสนใจ สนุกสนานเพลิดเพลิน ช่วยสร้างแรงจูงใจให้แก่นักเรียนในการเรียน ช่วยให้จดจำเนื้อหาและประทับความรู้สึกไว้ได้นาน ช่วยทำให้บทเรียนยกดูง่ายขึ้น การใช้เพลงประกอบการสอนในระดับประถมศึกษามีประโยชน์มาก เพราะเด็กในวัยนี้ชอบเล่น ชอบแสดง ชอบร้องเพลง และนอกจากนี้การใช้เพลงประกอบการสอนยังเป็นการช่วยส่งเริมพัฒนาการทุกด้านของเด็ก ช่วยเสริมสร้างให้เด็กมีวินัย มีประสบการณ์กว้างขวางและช่วยสร้างสัมพันธภาพอย่างเป็นกันเองระหว่างครูกับนักเรียน
ลักษณะของเพลงประกอบการสอน
ลักษณะของเพลงประกอบการสอนต้องมีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับบทเรียนหรือเกี่ยวกับการสอดแทรกคุณธรรรม จริยธรรม และคุณลักษณะที่พึงประสงค์แก่นักเรียน
สุนันทา สุนทรประเสริฐ (ม.ป.ป.: 2) กล่าวถึงลักษณะของเพลงที่นำมาใช้ประกอบการสอน ดังนี้
1.       เป็นทำนองเพลงลูกทุ่งที่นักเรียนสามารถฟังจนติดหู หรือร้องจนติดปากแล้ว
2.         แต่งเป็นบทร้อยกรองกลอนสุภาพ หรือกาพย์ยานี 11 แล้วนำมาใส่ทำนองเป็นเพลงไทยเดิมที่สนุกๆ
3.       มีเนื้อหาของเรื่องที่จะสอนสอดแทรกไว้ในเพลงทุกเพลง
4.       เพลงที่ใช้ส่วนใหญ่มีเนื้อร้องสั้นๆไม่ยาวจนเกินไป
5.       เน้นความไพเราะสนุกสนานเปลี่ยนบรรยากาศในการเรียนไม่ให้เคร่งเครียด
6.       หลังจากร้องเพลงจบแล้ว จะมีการอภิปรายเกี่ยวกับเนื้อหาหรือปัญหาที่น่าคิดจากเนื้อเพลง
การใช้เพลงประกอบการสอนนั้น ครูต้องคำนึงถึงเนื้อห่าของบทเพลงที่เหมาะสมกับวัยและความต้องการของนักเรียน ศิริพร หงส์พันธุ์ (2540: 257-258) กล่าวว่า ในต่างประเทศมีผู้ให้ความเห็นว่าเด็กจะรู้สึกสนุกสนานที่ได้ร้องเพลงดังต่อไปนี้
1.       บทเพลงเกี่ยวกับบ้านและโรงเรียน
2.       บทเพลงเกี่ยวกับคน โดยเฉพะเพลงที่เด็กๆสามารถเติมชื่อของตนเอง หรือชื่อของเพื่อนๆลงไป
3.       บทเพลงที่เด็กได้มีโอกาสปรบมือ ทำจังหวะ และแสดงท่าทางต่างๆ
4.       บทเพลงที่กำลังเป็นที่นิยม ซึ่งได้ยินมาจากโทรทัศน์ วิทยุ หรือจากการชมภาพยนตร์
5.       บทเพลงเกี่ยวกับเทศกาล ฤดูกาล และวันพักผ่อนต่างๆ
เทคนิคการใช้เพลงประกอบการสอน
              สิริพัชร์  เจษฏาวิโรจน์ (2550: 30) กล่าว่า ในการใช้เพลงประกอบการสอนนั้นครูอาจใช้ในขั้นนำเข้าสู่บทเรียน ขั้นทำกิจกรรมการเรียนการสอน หรือขั้นสรุปก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและอยู่ในดุลยพินิจของครู และในการร้องเพลงครูอาจเป็นคนร้อง หรือให้นักเรียนร้อง หรือเปิดเทปบันทึกเสียงให้ฟังก็ได้ ที่สำคัญอย่าลืมสนทนาถึงสาระสำคัญของเนื้อเพลง หรือข้อคิดข้อเตือนใจที่ได้จากเพลง หรือให้นักเรียนทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งหลังจากที่ได้ฟังเพลงแล้วด้วยก็ได้
              สุนันทา  สุนทรประเสริฐ (ม.ป.ป.: 3-4) กล่าวว่า การนำกิจกรรมเพลงที่มาใช้ในกิจกรรมการเรียน กระทำได้หลายโอกาส คือ
                1.  การใช้นำเข้าสู่บทเรียน เพื่อเป็นแรงจูงใจและหันเหความสนใจของนกเรียนให้มาสู่บทเรียนที่ครูกำลังจะสอน เช่น จะสอนเรื่องอักษร ควรนำด้วยเพลงอักษรย่อรอเธอเป็นเพลงที่ดัดแปลงมาจากเพลงลูกทุ่งรักห้าปี
                2.  การใช้เพลงดำเนินการสอน จะใช้เพลงเป็นตัวหลักสำคัญในการจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับจุดประสงค์ เช่น จะสอนการเขียนเรื่องตามจินตนาการ หลังจากที่อภิปรายถึงหลักการเขียนเรื่องตามจินตนาการแล้วก็ให้นักเรียนร้องเพลง 3 เพลง ต่อไปนี้ คือ เพลงเที่ยวทะเล เที่ยวน้ำตก เที่ยวสวนสัตว์ จากนั้นให้นักเรียนเลือกเขียนเรื่องตามจินตนาการจากเพลง 1 เรื่อง ที่ร้อง ตามความพอใจแล้วนำเสนอหน้าชั้นเรียน
                3.  การใช้เพลงในการสรุปบทเรียน เพื่อทบทวนเนื้อหาที่ได้เรียนเป็นการย้ำซ้ำเตือนอีกครั้งหนึ่ง เช่น ได้สอนเรื่องชนิดของคำไปแล้วต้องสรุปเนื้อหา ก็ใช้เพลงคำนาม คำสรรพนาม คำวิเศษณ์ คำกริยา คำบุพบท คำสันธาน คำอุทาน เป็นต้น
                4.  การใช้เพลงสำหรับฝึก ซึ่งจะเป็นการฝึกให้ออกเสียงหรือย้ำให้เกิดความแน่ใจอีกครั้งหนึ่ง เช่น การสอนคำใหม่ เมื่อสอนคำใหม่แล้วต้องการให้นักเรียนฝึกอ่าน หรือจะให้หาความหมายของคำอีกก็ได้
                5.  ใช้เพลงในการวัดผลและประเมินผล โดยการใช้เพลงเป็นส่วนประกอบในการวัดผล เช่น นักเรียนเรียนเรื่องคำซ้อน ซึ่งนอกจากจะใช้เพลงคำซ้อนในการสรุปเนื้อหาแล้ว ก็ยังสามารถใช้เพลงนั้นเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินความรู้ของนักเรียนอย่างต่อเนื่องได้อีกด้วย โดยนำคำซ้อนในเนื้อเพลงมาแต่งเป็นประโยคเป็นเรื่องราว หรือให้นักเรียนหาคำซ้อนเพิ่มเติมจากเนื้อเพลงตามความสามารถของแต่ละบุคคล
                ดนู  จีระเดชากุล (2541: 110-111 อ้างถึงใน ชัยวัฒน์  เหล่าสืบสกุลไทย, 2549: 23) กล่าวถึงข้อควรคำนึงในการสอนการร้องเพลงสำหรับเด็กไว้ ดังนี้
                1.เด็กทุกคนมีพัฒนาการและภาวะความพร้อมทางร่างกายและจิตใจแตกต่างกัน ครูจึงควรเข้าใจ ไม่คาดหวังความสามารถของเด็กว่าจะร้องเพลงได้เหมือนกันทุกคน
                2. เพลงสำหรับเด็กควรเป็นเพลงง่ายๆ เริ่มต้นจากเพลงที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมหรือสิ่งที่เด็กได้รู้จักพบเห็นในชีวิตประจำวันหรือเกี่ยวข้องกับตนเอง
                3. การสอนเพลงในแต่ละครั้ง ไม่ควรสอนเพลงหลายเพลงมากเกินไป
                ชัยวัฒน์  เหล่าสืบสกุลไทย (2549: 21-22) กล่าวถึง หลักและวิธีการสอนเพลงดังนี้
1.ครูมีความมั่นใจในตัวเอง เช่น มั่นใจว่าจำจังหวะและทำนองของเพลงไดแม่นยำ จำเนื้อร้องได้ครบถ้วน จำท่าทางประกอบได้
2.ครูจะต้องร้องให้ฟังก่อน เพื่อให้นักเรียนได้ฟังทำนอง จังหวะ เนื้อร้องหรือจับเค้าเพลงที่ร้องให้ได้ก่อน ควรร้องให้ฟัง 1-2 เที่ยว
3.     ครูควรให้นักเรียนร้องตามทีละวรรค
4.     ครูควรเลือกเพลงสั้นๆ เพื่อจะได้จำง่าย
5.ครูต้องให้สัญญาณเพื่อจะให้ทุกคนได้เริ่มร้องเพลงพร้อมๆกัน เช่น บอกว่าเริ่มหรือนับ 1-2-3 หรือใช้สัญญานมือก็ได้
6.ครูต้องควบคุมจังหวะเพลงให้ดี อาจใช้การปรบมือ การตีกลอง ซึ่งบ้างครั้งเพิ่มจังหวะให้เร็วขึ้นเพื่อเพิ่มความสนุกสนาน
7.     ครูควรเลือกเพลงที่มีจังหวะง่ายแก่การร้อง เช่น จังหวะรำวง จังหวะช่า ช่า ช่า เป็นต้น
8.ครูควรสอนเพลงด้วยน้ำเสียง ท่าทาง และมีอารมณ์สอดคล้องกับบทเพลงที่จะสอนและควรแสดงความสนใจนักเรียนด้วยการสบตากับนักเรียนให้ทั่ว
                ศิริพร  หงส์พันธุ์ (2540: 258) ได้ให้ข้อเสนอแนะในการสอนบทเพลงว่า ครูควรจัดบทเพลงประกอบการสอนให้เข้ามามีบทบาทในการเรียนการสอนอย่างเหมาะสม เพราะการใช้บทเพลงประกอบการสอนเป็นวิธีหนึ่งที่ให้เด็กสนใจบทเรียน และรู้สึกสนุกสนาน ไม่เบื่อหน่ายในการใช้บทเพลงประกอบการสอนนั้น ครูต้องมีวิธีที่จะทำให้เด็กสนใจและร้องเพลงได้ และควรเลือกเพลงที่เหมาะสมกับเด็กด้วย